อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก)
สำหรับคนชอบสนอร์เกิล หรือการดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นแล้ว ทุกคนรู้เลยว่าสักครั้งในชีวิตจะต้องฝ่าคลื่นลมกลางทะเล เพื่อมาสัมผัสโลกใต้ผืนน้ำสีครามที่งดงามของหมู่เกาะสุรินทร์ และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีมากมายทั้งในเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ ที่นี่จึงเป็นแหล่งดำน้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย จะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสุดยอดทะเลไทยก็คงไม่ผิดนัก มองภาพกว้าง หมู่เกาะสุรินทร์มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวเป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่บริเวณโดยรอบทั้งเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลมแล้ว สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ มีแสงแดดส่องถึงในปริมาณที่พอดี และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่น ๆ ทำให้ทะเลรอบ ๆ หมู่เกาะสุรินทร์นั้นหนาแน่นด้วยแนวปะการังน้ำตื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semi diurnal คือน้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง สำหรับเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้นั้น ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้น ๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงน้ำลงนั้น สามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้เลยทีเดียว จุดนี้เองเป็นจุดที่เรียกกันว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น ฤดูกาลเหมาะ